5 วิธี ฝึกน้องหมาไม่ให้เห่าพร่ำเพรื่อ

Sirinda Palahan
2 min readJan 21, 2021

--

เนื่องจากตอนนี้ตัวเราเองกำลังประสบปัญหาน้องหมาเห่าพร่ำเพรื่อค่ะ ทำให้ต้องค้นหาวิธีทำให้เขาหยุดเห่า เลยนำมาแบ่งปันบน Medium ด้วย เผื่อว่าจะมีใครที่กำลังเจอปัญหาแบบเดียวกัน

เท่าที่ค้นหาและประมวลข้อมูลมาพบว่า ก่อนที่เราจะแก้ปัญหาการเห่าพร่ำเพรื่อ เราจะต้องเข้าใจสาเหตุที่ทำให้สุนัขของเราเห่าซะก่อน ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น โดยสาเหตุที่ทำให้สุนัขเห่านั้น อาจมาจาก

  1. การหวงอาณาเขต โดยมากมักเกิดขึ้น เมื่อมีคนหรือสัตว์เดินผ่าน หรือเดินเข้ามาในอาณาเขตของเขา และสุนัขมักเห่าดังมากขึ้น และมีท่าทีก้าวร้าวมากขึ้น เมื่อผู้รุกล้ำเดินใกล้เข้ามา
  2. ความตื่นกลัว สุนัขบางตัวจะเห่าเมื่อรู้สึกตกใจหรือหวาดกลัว ซึ่งในกรณีนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่จำเป็นว่าเฉพาะในบริเวณอาณาเขตของเขา
  3. การรู้สึกเบื่อหรือเหงา สุนัขเป็นสัตว์ที่อยู่เป็นฝูง ดังนั้น หากเขาถูกปล่อยให้อยู่บ้านเพียงลำพังทั้งวัน ก็จะทำให้เขามีพฤติกรรมการเห่ามากขึ้น เพราะเขาไม่มีความสุข
  4. ความอยากเล่นหรือต้อนรับ สุนัขมักเห่าเวลาต้องการทักทายเจ้าของหรือสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ซึ่งมักเป็นการเห่าดีใจที่มาพร้อมกับการกระดิกหางหรือกระโดด เช่น กระโจนเข้าหาเจ้าของ เป็นต้น
  5. เรียกร้องความสนใจ การเห่าเป็นวิธีการหนึ่งที่สุนัขใช้เมื่อต้องการสื่อสารกับเจ้าของ สุนัขมักเห่าเพื่อเรียกร้องความสนใจ เมื่อเขาต้องการอะไรบางอย่าง เช่น อยากเล่น, หิว, หรืออยากออกไปข้างนอก เป็นต้น
Picture from https://www.flickr.com/photos/27587002@N07/5170590074/in/photostream/

เมื่อเราเข้าใจสาเหตุของการเห่าแล้ว ในหัวข้อนี้ จะอธิบาย 5 วิธี ในการทำให้สุนัขหยุดเห่า ซึ่งเจ้าของสุนัขจะต้องเข้าใจก่อนว่า การทำให้สุนัขหยุดเห่าพร่ำเพรื่อนั้นใช้เวลา และอย่าหวังว่าถ้าเราบอกเขาว่า “เงียบ!” หรือ “หยุดเห่า!” แล้วเขาจะเข้าใจและหยุดในทันที แต่เราจำเป็นต้องฝึกให้เขาเข้าใจคำสั่ง “เงียบ” นอกจากนี้ การตะโกนบอกให้สุนัขหยุดเห่า ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้เขาเห่ามากขึ้น เพราะนึกว่าเราจะร่วมวงเห่าด้วย (ฮาาาาา)

รายละเอียดของทั้ง 5 วิธี มีดังนี้

  1. ฝึกคำสั่ง “เงียบ” เมื่อสุนัขเริ่มเห่าและมีทีท่าจะเห่าไม่หยุด ให้เราพูดว่า “เงียบ” ด้วยน้ำเสียงที่สงบและหนักแน่น และรอจนกระทั่งเขาหยุดเห่า จากนั้นให้กล่าวชมและให้รางวัล ทั้งนี้ หากเขาไม่ฟังที่เราพูด เราอาจพูดซ้ำ พร้อมแสดงท่าทางด้วยการเอามือไปวางไว้ที่ปาก และมองจ้องตาเขา สุนัขมักจะตอบสนองต่อคำสั่งที่มาพร้อมท่าทางได้เร็วกว่าคำสั่งที่ใช้เสียงเพียงอย่างเดียว ให้เราฝึกคำสั่งนี้ซ้ำๆ จนกระทั่งเขาเรียนรู้ว่าหากเขาหยุดเห่า เขาจะได้รางวัล ทั้งนี้ เราจะต้องใจเย็น และอย่าให้รางวัลในขณะที่เขากำลังเห่า หรือเห่าด้วยเสียงที่เบาลง เพราะสุนัขอาจเข้าใจผิดว่าการเห่าจะทำให้ได้รางวัล
  2. กำจัดสิ่งเร้า ถ้าสุนัขเห่าเพราะเห็นคนหรือสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น แมว เดินเข้ามาภายในอาณาเขตของเขา เราจำเป็นต้องกำจัดสิ่งเร้าดังกล่าว โดยใหสุนัขอยู่ในบริเวณที่จำกัดการมองเห็นภายนอก หรือเอาสุนัขเข้ามาในบ้านแทนการให้อยู่นอกบ้าน หากในบ้านมีกระจกใสที่สุนัขสามารถมองออกไปข้างนอกได้ เราอาจต้องหาฟิล์มทึบแสงมาติดในระดับที่บังสายตาสุนัข
  3. หากิจกรรมให้ทำ การที่สุนัขต้องอยู่ตัวคนเดียวเวลาเราไม่อยู่บ้าน อาจทำให้เขาเกิดความรู้สึกเบื่อหรือเหงา และทำให้เกิดพฤติกรรมการเห่าพร่ำเพรื่อได้ ในกรณีนี้ เจ้าของจะต้องหาของเล่น เพื่อไม่ให้สุนัขมีกิจกรรมทำระหว่างที่ต้องอยู่คนเดียว นอกจากนี้ เจ้าของยังควรเล่นกันสุนัขให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เขามีความสุข และเห่าน้อยลงได้ นอกจากนี้ เมื่อสุนัขเล่นจนเหนื่อยแล้ว เขาก็จะหมดแรงเห่าไปในที่สุด ซึ่งการทำให้สุนัขหมดแรง อาจทำตอนก่อนที่เราจะออกจากบ้านก็ได้ โดยอาจพาเขาออกไปเดินเล่นช่วงเช้า หรือเล่นกับเขาก่อนสักครึ่งชั่วโมง ก่อนเราออกจากบ้านก็ได้
  4. ฝึกให้นั่งรอเจ้าของกลับบ้าน การที่สุนัขเห่าและแสดงท่าทีดีใจ เมื่อเรากลับมาบ้าน อาจทำให้เรารู้สึกดี แต่ถ้าเขาเห่าเสียงดังและนานเกินไป ก็อาจเป็นการรบกวนเพื่อนบ้านของเราได้ ดังนั้น เราจะฝึกให้สุนัขนั่งรอในขณะที่เราเปิดประตูเข้าบ้าน โดยเลือกบริเวณที่ไม่ไกลจากประตู และเขามองเห็นประตูได้ชัดเจน การฝึกนี้จะได้ผลเร็ว ถ้ามีคนอยู่บ้านสองคน โดยคนนึงทำเป็นเดินออกจากบ้านและเดินกลับมาทำท่าจะเปิดประตู และให้อีกคนจับเขาไปนั่งรอที่ตรงบริเวณที่กำหนด และออกคำสั่งให้คอยจนกว่าเจ้าของอีกคนจะเปิดประตูเข้ามา และให้รางวัลหากเขาทำสำเร็จ
  5. ไม่สนใจเสียงเห่า ในกรณีที่สุนัขเห่าเพื่อเรียกร้องความสนใจ เช่น เห่าเมื่อต้องการออกไปเล่นนอกบ้าน เราจำเป็นฝึกให้เขาบอกเราด้วยวิธีอื่นแทนการเห่า เช่น เดินไปดึงสายจูง เมื่อต้องการออกไปให้พาเป็นเดินเล่น หรือหากสุนัขเห่าเมื่อถึงเวลากินอาหาร อย่าเดินไปเติมอาหารทันที ให้เรารอสักพัก แล้วค่อยเดินไปเติมอาหารให้ เพื่อไม่ให้เขารู้ว่าการเห่าทำให้เขาได้สิ่งที่ต้องการ

จากทั้งหมด 5 วิธีข้างต้น ตัวเราเองคิดว่าจะลองทำวิธีการแรกดูก่อนค่ะ คือการฝึกให้เขาเข้าใจคำสั่ง “เงียบ” เพราะตอนนี้ช่วงกักตัว มีคนมาส่งของเกือบทุกวัน ทั้งอาหารและของใช้อื่นๆ ทั้งของตัวเราเองและคนอื่นในครอบครัว ทำให้น้องหมาของเราเห่าหลายครั้งมากในแต่ละวัน จนเกรงใจเพื่อนบ้าน เลยจำเป็นต้องฝึกสั่งให้เขาเงียบค่ะ ใครอ่านแล้วลองเอาไปทำตาม ได้ผลอย่างไรมาแบ่งปันประสบการณ์กันได้นะคะ

(ส่วนหนึ่งของบทความนี้ นำมาจาก https://pets.webmd.com/dogs/guide/understanding-why-dogs-bark#1)

--

--

Sirinda Palahan
Sirinda Palahan

Written by Sirinda Palahan

Welcome to my space where I share what I am learning :)

No responses yet