AI คืออะไร? น่ากลัวจริงหรือ?

Sirinda Palahan
3 min readFeb 21, 2019

AI เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบัน คนดังหลายคนไม่ว่าจะเป็น Elon Musk หรือ Mark Zuckerberg ต่างก็ออกมาให้ความคิดเห็น ทั้งในทางที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการพัฒนา AI วันนี้เราจะมาดูกันว่าจริงๆ แล้ว AI คืออะไร และจะมาช่วยหรือทำลายมนุษยชาติกันแน่

AI คืออะไร?

John McCarthy ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่ง AI (Artificial Intelligence -ปัญญาประดิษฐ์) เคยอธิบายไว้ว่า AI คือศาสตร์ในการทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ฉลาดเหมือนมนุษย์ โดยความฉลาดของเครื่องคอมพิวเตอร์หมายถึงความสามารถในการทำงานหนึ่งได้สำเร็จเหมือนที่มนุษย์ทำได้

ซึ่งความฉลาดของ AI มีหลายระดับ (จริงๆ ก็เหมือนคนที่มีความฉลาดไม่เท่ากัน) ในปัจจุบัน เราแบ่ง AI ออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

  1. Narrow AI เป็น AI ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อทำงานหนึ่งอย่าง มีความฉลาดหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น AlphaGo เพื่อเล่นโกะ, ระบบคัดกรองอีเมล์ขยะ, โปรแกรมผู้ช่วยส่วนตัว หรือแม้แต่รถยนต์ที่ขับได้ด้วยตนเอง (Self driving car) ก็จัดว่าเป็น Narrow AI (จริงๆ รถยนต์ที่ขับได้ด้วยตนเอง ประกอบด้วย Narrow AI หลายๆ ตัว ช่วยกันทำงาน) ซึ่ง Narrow AI คือสิ่งที่นักวิจัยประสบความสำเร็จในการพัฒนามาจนถึงตอนนี้
  2. General AI เป็น AI ที่มีความซับซ้อนกว่า Narrow AI มาก สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และแก้ปัญหาได้ในระดับเทียบเท่าหรือดีกว่ามนุษย์ General AI เป็น AI ในความหมายที่สังคมพูดถึง ว่ากำลังจะมาถึงในไม่ช้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว การพัฒนาให้ AI มีความฉลาดในระดับนี้ ยังห่างไกลจากความเป็นจริงมาก เพราะสมองมนุษย์มีการทำงานที่มหัศจรรย์มาก ทั้งความสามารถในการตีความ การเชื่อมโยงหลายองค์ความรู้เข้าด้วยกัน เพื่อวางแผนและตัดสินใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ นับว่าเป็นเรื่องที่ยากมากที่คอมพิวเตอร์จะทำได้
  3. Super AI หรือ Superintelligence เป็น AI ที่มีความฉลาดเหนือกว่ามนุษย์อัจฉริยะเกือบทุกคนในทุกสาขาอาชีพ รวมถึงมีความคิดสร้างสรรค์, ภูมิปัญญาและทักษะทางสังคม นักวิจัยบางคนเชื่อว่า หากเราสามารถพัฒนา General AI ได้สำเร็จ การพัฒนา Superintelligence ก็จะสามารถทำได้ในไม่ช้าหลังจากนั้น

จากการแบ่ง AI ทั้ง 3 ระดับ จะเห็นว่า คำนิยามของ General AI และ Super AI นั้น เป็นคำนิยามแบบกว้างๆ คลุมเคลือเกินกว่าที่จะวัดได้ว่า AI มีความฉลาดตามที่กำหนดไว้หรือไม่ อาจเป็นเพราะมันยากมาก ที่จะบอกว่าความฉลาดของมนุษย์คืออะไร อย่างไรก็ตาม มีการทดสอบอันหนึ่ง ชื่อว่าการทดสอบทัวริ่ง ออกแบบมาเพื่อประเมินว่าเครื่องจักรสามารถคิดได้แบบมนุษย์หรือไม่

การทดสอบทัวริง (The Turing Test)

ก่อนที่จะอธิบายการทดสอบทัวริ่ง เรามาทำความรู้จัก Alan Turing ผู้คิดการทดสอบทัวริ่งกันก่อน Alan Turing เป็นนักคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษ เกิดใน ปี 1912 เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นบิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์ เป็นผู้เสนอแนวคิดต้นแบบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้กันในปัจจุบัน

Alan Turing ตอนอายุ 16 ปี (รูปภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Alan_Turing)

นอกจากนี้ เขายังมีบทบาทสำคัญในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการสร้างเครื่อง Colossus ที่สามารถถอดรหัสลับ (ที่สร้างจากเครื่อง Enigma) ของฝ่ายเยอรมันได้ ส่งผลให้ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถเอาชนะฝ่ายนาซี ช่วยรักษาชีวิตผู้คนไปมากกว่า 14 ล้านชีวิต ประวัติชีวิตของ Alan Turing ในช่วงนี้ ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Imitation Game ในปี 2014

ภาพยนตร์เรื่อง The Imitation Game (รูปภาพจาก https://www.amazon.co.uk/Imitation-Game-DVD-Benedict-Cumberbatch/dp/B00PC1FD9U)

หลังสงคราม Alan Turing ให้ความสนใจด้านความฉลาดของเครื่องจักร (Machine intelligence) และเสนอวิธีการทดลองเพื่อวัดความฉลาดของเครื่องจักร ในแง่ของการคิดได้เหมือนมนุษย์ และตั้งชื่อการทดลองว่า The Imitation Game ซึ่งภายหลังรู้จักกันในชื่อ การทดสอบทัวริ่ง (The Turing Test) ในการทดสอบจะมีห้อง 3 ห้อง เชื่อมต่อกันด้วยคอมพิวเตอร์และโปรแกรมแชท ดังรูป โดยผู้ตัดสินจะนั่งในห้อง C ผู้ทดลองซึ่งเป็นคนนั่งในห้อง B และผู้ทดลองซึ่งเป็นเครื่องจักรอยู่ในห้อง A ผุู้ตัดสินจะทำการพูดคุยกับผู้ทดลองทั้งสองห้อง ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องจักรจะผ่านการทดสอบ ก็ต่อเมื่อมีผู้ตัดสินมากกว่า 30% คิดว่าเครื่องจักรคือคน

การทดสอบทัวริ่ง (รูปภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Turing_test)

Alan Turing เองได้พยากรณ์เอาไว้ว่า จะมีเครื่องจักรที่สามารถผ่านการทดสอบนี้ได้ ภายในปี 2000 แต่ในความเป็นจริง การพัฒนา AI มีความซับซ้อนมากกว่าที่ Turing คิด โดย AI ตัวแรกที่ (อ้างว่า) ผ่านการทดสอบ คือ Eugene Goostman แชทบอทเด็กชายชาวยูเครน อายุ 13 ปี ที่อาศัยความเป็นเด็กและชาวต่างชาติ ทำให้ผู้ตัดสินมองข้ามเมื่อพูดภาษาอังกฤษไม่ถูกต้อง และไม่มีความรู้ในบางเรื่องที่กำลังสนทนา จนเอาชนะการแข่งขันไปได้ ในปี 2012

เราควรกลัว AI หรือไม่

ถึงแม้จะดูเหมือนว่า General AI ยังเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากความเป็นจริงในปัจจุบันอยู่มาก แต่มีคนดังในวงการเทคโนโลยีหลายคน ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความน่ากลัวของ AI ในอนาคต อาทิเช่น Elon Musk เจ้าของบริษัท Tesla ผลิตรถยนต์ไร้คนขับ และบริษัท SpaceX ผลิตจรวดขนส่งอวกาศ ออกมาให้ความเห็นว่า

การพัฒนา AI จะต้องมีการควบคุมอย่างใกล้ชิด ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ซึ่ง Musk คิดว่า AI คือภัยคุกคามต่อความสูญพันธ์ของมนุษย์ชาติที่น่ากลัวที่สุด (The biggest existential threat)

Bill Gates ผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft เอง ก็ออกมาแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับศักยภาพของ AI ในอนาคต ดังนี้

ในตอนนี้ เรายังได้ประโยชน์จาก AI อยู่ เพราะมันยังฉลาดไม่มาก และยังคงไม่น่าเป็นห่วงนัก หากเรามีวิธีจัดการที่ดี แต่อีกหลายสิบปีต่อจากนี้ที่ AI จะฉลาดมาก จนเข้าขั้นน่าเป็นห่วง

แม้แต่ Stephen Hawking นักฟิสิกส์ผู้โด่งดัง ก็ออกมาเปิดเผยว่าความก้าวหน้าของ AI เป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะ AI สามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่มนุษย์เรามีวิวัฒนาการที่ช้ากว่ามาก ซึ่ง AI จะมีความเก่งกว่ามนุษย์เราไปในที่สุด ดังส่วนหนึ่งของคำกล่าวของ Hawking

การมาถึงของ Full AI (Superintelligence) อาจนำไปสู่การสูญสิ้นของเผ่าพันธุ์มนุษย์

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนดังหลายคนออกมาสนับสนุนการพัฒนา AI อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น Mark Zuckerberg ที่ออกมาให้ความเห็นว่า

การพัฒนา AI จนถึงตอนนี้ ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น การกลัว AI จนเกินเหตุจะทำให้เราเสียโอกาสจากหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นรถที่ขับได้ด้วยตนเอง หรือ AI ทางการแพทย์

Steve Wozniak (ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Apple) ที่ต่อต้าน AI ในตอนแรก แต่ได้เปลี่ยนใจหันมาสนับสนุน ด้วยเหตุผลที่ว่านักวิจัยเองยังไม่เข้าใจการทำงานของสมองคนอย่างลึกซึ้ง นั่นก็หมายความว่ามันยากมากที่สร้างเครื่องจักรให้คิดได้เหมือนคน และเสียเวลาเปล่าที่จะมากังวลว่า Super AI จะมายึดครองโลก

จากข้อคิดเห็นดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่า พวกเขาไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา AI เพราะด้วยศักยภาพของ AI ที่สามารถนำไปประโยชน์ได้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นวงการแพทย์ เช่น AI ช่วยผ่าตัดหรือช่วยวิเคราะห์มะเร็ง หรือวงการทหาร เช่น หุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิด แม้กระทั่ง Elon Musk ก็ออกมาให้ทุนก่อตั้ง OpenAI เพื่อพัฒนา AI ให้เกิดประโยชน์และควบคุมได้

แต่สิ่งที่คนดังทั้งหลายกังวลคือ การขาดความเข้าใจในหลักการทำงานของ AI อย่างถ่องแท้ ซึ่งมี AI หลายตัว ที่ีพัฒนาตัวเองจนมีพฤติกรรมเกินความคาดหมาย ไม่ว่าจะเป็น Chatbot ของเฟสบุ้คที่สร้างภาษาเฉพาะมาคุยกันเอง หรือ บอทเล่นเกมแข่งเรือ ที่หาวิธีเล่นให้ชนะ ด้วยการควงเรือให้หมุนจนไปชนกับโขดหินและชนเรือลำอื่นจนกระเด็นคว่ำลงไป เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ ทำให้นักวิจัยตระหนักถึงภัยคุกคามของ AI ที่แม้ยังไม่เกิดในตอนนี้ แต่คาดว่าน่าจะมาถึงในอนาคตไม่เร็วก็ช้า และเราเองควรที่จะเตรียมวิธีรับมือเพื่อป้องกันได้ทัน เมื่อเวลานั้นมาถึง

--

--

Sirinda Palahan

Welcome to my space where I share what I am learning :)